
คำว่า ‘เปลือก’ ในที่นี้ หมายถึงการเลือกใช้งานวัสดุเปลือกอาคารหรือฟาซาด (Façade) ที่เป็นคำจากรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส หมายถึง ‘โฉมหน้า’ ซึ่งการนำมาใช้กับงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นกับอาคาร หรือบ้านพักอาศัย ก็มักให้ความหมายถึงด้านหน้า หรือด้านอื่นๆ ของอาคารที่สามารถมองเห็นได้โดยชัดเจน
ซึ่งวัสดุที่ใช้เป็นผนังรับน้ำหนัก บางครั้งอาจไม่ตอบโจทย์ทางด้านความสวยงาม นักออกแบบจึงนิยมเลือกใช้ ‘วัสดุตกแต่งฟาซาด’ ที่มีความหลากหลายในด้านการออกแบบมากกว่า ทั้งคุณสมบัติของวัสดุ น้ำหนัก เฉดสี พื้นผิว และลักษณะการติดตั้ง ทำให้สามารถออกแบบฟาซาดได้ตามแนวคิดที่ต้องการ

มุมมองที่มากกว่าความสวยงาม
อีกมุมหนึ่งของฟาซาด ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับงานสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น พื้นที่ใช้งานด้านในอาคารต้องการพื้นที่ทึบ/โปร่ง หรือทึบผสมโปร่งแบบเป็นจังหวะ รวมไปถึงน้ำหนักของโครงสร้างหลัก ที่ต้องแบกรับวัสดุฟาซาดเอาไว้ ก็ต้องเลือกใช้งานให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายให้กับอาคารได้ในอนาคต
หรือการติดตั้งในลักษณะเป็น Double Skin Façade ก็คือการหุ้มอาคารด้วยผนังชั้นที่สอง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผิวอาคารกับวัสดุตกแต่งฟาซาด ซึ่งพื้นที่ส่วนนั้นสามารถสร้างคุณประโยชน์ในด้านการระบายอากาศ ช่วยลดความร้อนและกรองแสงแดด ที่จะเข้ามาปะทะกับตัวอาคารโดยตรง สามารถช่วยบดบังสายตาจากภายนอก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน
ในขณะเดียวกัน รูปแบบที่หลากหลายของวัสดุฟาซาด ทั้งรูปแบบปิดทึบ บิดหัก โปร่งบาง ระแนง ครีบ พื้นผิวต่างๆ รวมถึงการฉลุลวดลายของบนแผ่นวัสดุ ท้าทายมุมมองด้านความสวยงามของนักออกแบบ ที่ต้องสร้างสรรค์ความเป็นเอกลักษณ์ให้กับอาคาร และยังต้องควบคู่ไปกับประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่อาคารจะได้รับไปอย่างเหมาะสม

เลือกวัสดุที่ตอบโจทย์ทุกปัจจัยในงานออกแบบ
วัสดุที่สามารถนำมาตกแต่งเป็นฟาซาดได้ จริงๆแล้วสามารถเลือกใช้งานได้หลากหลาย ตัวอย่างเช่น อลูมิเนียม กระจก เหล็ก ไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม้เทียม หินเทียม หรือแม้แต่การปลูกไม้เลื้อยขึ้นมาเป็นสวนแนวตั้ง หรือการผสมผสานกันของหลายวัสดุ แต่มีหลักการสำคัญก็คือ ความเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน และการตอบโจทย์ในด้านจินตนาการในการออกแบบ ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบอาคาร
ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของอาคารที่แตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบจากแสงแดด ลม ฝน ร่มเงา ความร้อน มีผลต่อการออกแบบในแต่ละส่วนของอาคาร ตัวอย่างเช่น ความหลากหลายในการใช้งานของอาคารสำนักงาน ซึ่งมีบางพื้นที่ต้องการความโปร่งโล่ง มีแสงสว่างเข้าถึง และอากาศถ่ายเทได้เต็มที่ อย่างพื้นที่ส่วนโถง พื้นที่ทำงาน หรือสวนสีเขียว พื้นที่บางส่วนต้องการฉากที่ปิดทึบ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว อย่างห้องสัมมนา ห้องประชุม หรือพื้นที่ส่วนพักผ่อนของผู้บริหาร เป็นต้น

แนวคิดในการออกแบบโดยรวมของอาคาร ก็ส่งผลโดยตรงไปถึงความโดดเด่นของวัสดุฟาซาด ซึ่งสไตล์แบบทันสมัย ร่วมสมัย ดั้งเดิม หรือธรรมชาติ ก็จะถูกสื่อสารผ่านการเลือกรูปแบบของฟาซาด ช่วยเพิ่มความชัดเจนให้กับภาพลักษณ์ของอาคารได้
หรือหากเป็นอาคารที่ต้องการปรับปรุง-ต่อเติม เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าอาคารเสียใหม่ จากสภาพอาคารเดิมที่ทรุดโทรมลง ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องน้ำหนักของวัสดุตกแต่งฟาซาด ที่ต้องไม่เป็นภาระต่อโครงสร้างเดิม รวมถึงรูปแบบที่ต้องสอดคล้องกับแนวคิดของอาคารเดิมอีกด้วย

คุณภาพชีวิตที่ดีกับการออกแบบฟาซาด
แน่นอนว่าความสวยงามที่ได้จากการออกแบบฟาซาด สร้างประโยชน์กับทั้งเจ้าของอาคาร (หรือเจ้าของบ้าน) ที่ได้สร้างเอกลักษณ์ให้กับองค์กรของตัวเอง รวมถึงสร้างความน่าจดจำ ให้กับผู้ที่เข้ามาใช้งานอาคาร หรือผู้ที่ผ่านไป-มาในบริเวณอาคารเป็นประจำ ซึ่งหากฟาซาดยิ่งมีความโดดเด่นมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นภาพจำที่ดี ซึ่งสามารถนำไปบอกต่อ เพื่อเป็นประโยชน์ที่ดีที่ย้อนกลับมาสู่องค์กรได้
รวมถึงเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมมาจากสุขภาพกายและใจที่ดี ซึ่งการใช้งานในอาคาร (หรือบ้าน) ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน ผ่านการออกแบบฟาซาดอาคาร ที่จำเป็นต้องช่วยส่งเสริมหรือปกป้องความสบายทางด้านกายภาพ ของผู้ใช้งานภายในอาคาร ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความสว่าง รวมไปถึงคุณภาพของเสียง จากบริบทโดยรอบอาคารที่แตกต่างกันออกไป เมื่อการใช้งานมีความเหมาะสม ย่อมสร้างบรรยากาศและความเป็นอยู่ที่ดีภายในอาคาร ซึ่งส่งผลไปถึงคุณภาพทางด้านจิตใจด้วยเช่นกัน

ด้านการใช้พลังงานภายในอาคาร ก็ส่งเสริมต่อการลดการใช้พลังงานภายที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น การลดพลังงานของเครื่องปรับอากาศหรือไฟส่องสว่าง ก็มาจากการติดตั้งวัสดุฟาซาด ด้วยตำแหน่ง ทิศทาง และรูปแบบที่เหมาะสม หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นผิว หรือโครงสร้างของอาคารหลัก ที่อาจเกิดการเสื่อมสภาพจากสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งเป็นผลดีต่อเจ้าของอาคารในระยะยาว
เมื่อการใช้งานตอบโจทย์ในทุกด้าน ย่อมทำให้อาคารมีมูลค่าที่สูงขึ้น ทั้งจากลักษณะทางกายภาพ ที่ส่งผลต่อไปถึงสภาพจิตใจที่ดี ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน และเป็นประโยชน์กับองค์กร ในด้านการสร้างความน่าเชื่อถือ และคุ้มค่าสำหรับการใช้งานในระยะยาว